เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 5. ปัญจกปุคคลบัญญัติ
[196] ยังมีอีก ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลาย
ธงก็อดทนได้ แต่พอได้ยินเสียงอึกทึกเท่านั้นก็จมอยู่ในมิจฉาวิตก หยุดอยู่ ไม่ตั้งมั่น
ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา บอกคืนสิกขา
เวียนมาเป็นคฤหัสถ์ อะไรเป็นเสียงอึกทึกของภิกษุนั้น มาตุคาม เข้าไปหาภิกษุใน
ธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง ย่อมยิ้มยวน ทักทาย ซิกซี้
พูดล้อเลียน เธอถูกมาตุคามยิ้มยวน ทักทาย ซิกซี้ ล้อเลียน ย่อมจมอยู่ในมิจฉาวิตก
หยุดอยู่ ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถจะสืบต่อพรหมจรรย์ได้ ประกาศความย่อหย่อนในสิกขา
บอกคืนสิกขาเวียนมาเป็นคฤหัสถ์ นี้ชื่อว่าเสียงอึกทึกของภิกษุนั้น
นักรบอาชีพนั้นเห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลายธงก็อดทนได้ แต่พอได้ยิน
เสียงอึกทึกเท่านั้น ย่อมชะงัก หยุด ไม่ตั้งมั่น ไม่สามารถจะเข้าสู่สงครามได้ แม้ฉันใด
ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นเช่นนี้ บุคคลเปรียบเหมือนนักรบ
อาชีพจำพวกที่ 3 นี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย
[197] ยังมีอีก ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลาย
ธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ แต่เมื่อปะทะกันก็เหนื่อยหน่าย ระส่ำ
ระสาย อะไรเป็นการปะทะกันของภิกษุนั้น คือ มาตุคามเข้าไปหาภิกษุในธรรม
วินัยนี้ผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง ย่อมนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัด
เธอถูกมาตุคามนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัดอยู่ก็ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ประกาศ
ความย่อหย่อนให้ปรากฏ เสพเมถุนธรรม นี้ชื่อว่าการปะทะกันของภิกษุนั้น
นักรบอาชีพนั้นเห็นกลุ่มควันก็อดทนได้ เห็นปลายธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียง
อึกทึกก็อดทนได้ แต่ว่าย่อมเหนื่อยหน่าย ระส่ำระสายในเมื่อมีการปะทะกัน
แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นเช่นนี้ บุคคลเปรียบ
เหมือนนักรบอาชีพจำพวกที่ 4 นี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย
[198] ยังมีอีก ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เห็นกลุ่มธุลีก็อดทนได้ เห็นปลาย
ธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ ปะทะกันก็อดทนได้ เธอชนะสงคราม
แล้วชื่อว่าผู้พิชิตสงคราม ย่อมครอบครองค่ายรบที่ชนะมาไว้ได้ อะไรเป็นชัยชนะใน
สงครามของภิกษุนั้น คือ มาตุคามเข้าไปหาภิกษุในธรรมวินัยนี้ผู้อยู่ป่า อยู่โคนไม้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :222 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 5. ปัญจกปุคคลบัญญัติ
หรืออยู่เรือนว่างแล้ว ย่อมนั่งใกล้ชิด นอนใกล้ชิด กอดรัด เธอถูกมาตุคามนั่งใกล้ชิด
นอนใกล้ชิด กอดรัดอยู่ก็ปลดเปลื้องเอาตัวรอดได้ หลีกไปตามที่ปรารถนา
ภิกษุนั้นย่อมเข้าสู่เสนาสนะอันสงัด เช่น ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า
ป่าทึบ กลางแจ้ง ลอมฟาง เธออยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น เธอละอภิชฌาในโลก มีใจปราศจากอภิชฌา ชำระจิต
ให้หมดจดจากอภิชฌา ละความมุ่งร้ายคือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์
เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้หมดจดจากความมุ่งร้ายคือพยาบาท ละถีนมิทธะ
ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้หมดจดจาก
ถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบภายใน ชำระจิตให้หมด
จดจากอุทธัจจกุกกุจจะ ละวิจิกิจฉา ข้ามพ้นวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยใน
กุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ชำระจิตให้หมดจดจากวิจิกิจฉา
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 ประการเหล่านี้ ที่ทำให้จิตเศร้าหมอง บั่นทอนกำลัง
ปัญญา สงัดจากกาม สงัดจากสภาวธรรมที่เป็นอกุศล บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มี
วิจาร มีปีติ และสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่
ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจาก
ความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นอย่างนี้ น้อมจิตไป
เพื่ออาสวักขยญาณ เธอย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่ง
ทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้อาสวะ นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะ
นี้ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ”
เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็รู้ว่า “หลุดพ้นแล้ว” รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหม-
จรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” นี้
คือการได้ชัยชนะในสงครามของภิกษุนั้น นักรบอาชีพนั้นเห็นกลุ่มควันแล้วก็อดทนได้
เห็นปลายธงก็อดทนได้ ได้ยินเสียงอึกทึกก็อดทนได้ ปะทะกันก็อดทนได้ นักรบ
อาชีพนั้น ชนะสงครามนั้นแล้ว เป็นผู้พิชิตสงคราม ย่อมครอบครองค่ายรบที่ชนะ
มานั้นนั่นแล แม้ฉันใด ภิกษุนี้ก็อุปมาฉันนั้น บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นเช่นนี้
บุคคลเปรียบเหมือนนักรบอาชีพ 5 จำพวกนี้มีปรากฏอยู่ในภิกษุทั้งหลาย


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :223 }